การยศาสตร์เพื่อความปลอดภัย

ความหมายของ Ergonomics

     คำว่า Ergonomics มาจากรากศัพท์ในภาษีกรีก 2 คำ คือ ergon แปลว่างาน (work) กับคำว่า nomos แปลว่า กฎ (law) เมื่อรวมคำทั้งสองเข้าด้วยกันเกิดเป็นคำใหม่ว่า Ergonomics (Law of Work) มีความหมายถึงการศึกษากฎเกณฑ์ในการทำงาน โดยมีเป้าหมายที่จะปรบัปรุงงานหรือสภาวะของงานใหเ้ข้ากับแต่ละบุคคล

     ราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติศัพท์ของคำว่า Ergonomics ไว้คือ การยศาสตร์ โดย อธิบายว่า การยเป็นคำในภาษาสันสกฤต หมายถึง งาน (work) และศาสตร์เป็นวิทยาการ (Science) รวมความเป็น Work Science

     การยศาสตร์ หมายถึง วิทยาการเกี่ยวกับงานหรือการทำงาน

     สมาคมการจัดการแห่งประเทศไทยได้บัญญัติศัพท์ของคำว่า Ergonomics ไว้ว่า “สมรรถศาสตร์” ซึ่งหมายความว่าเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับความสามารถ ในที่นี้หมายถึง ความสามารถในการทำงานของมนุษย์ในลักษณะต่างๆ โดยเทียบเคียงกับคำว่า Human Performance Engineering สถาบันความปลอดภัยในการทำงาน กรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย (ปัจจุบัน เป็นกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน) ได้ให้ความหมายของชื่อนี้ว่า “วิทยาการจัดสภาพงาน” และใช้กันในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับต่างๆ ถือว่าเป็นชื่อที่สื่อความหมายได้ดี

หลักการของการยศาสตร์ (Ergonomics)

     การยศาสตร์เป็นเรื่องของความเกี่ยวข้องระหว่างคนกับเครื่องจักรและเครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องอำนวยความสะดวกในการทำงานที่มีองค์ประกอบทั้งลักษณะท่าทางในการทำงานและขนาดรูปกร่างของคนงาน

1. ลักษณะท่าทางการทำงาน ในการทำงานโดยทั่วไปนั้นร่างกายของคนที่ทำงานจำเป็นจะต้องอยู่ใน ลักษณะท่าทางที่มั่นคงและสบายไม่ขัดหรือฝืนไปในทางที่ไม่ปกติ โดยเฉพาะขณะที่มีการออกแรง ดังนั้น หากมีการคำนึงถึงการ

   รักษาท่าทางของการเคลื่อนไหวในการทำงานให้มี มาตรฐานที่ดีได้ก็จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุและอันตรายจากการทำงานลงได้

   1.1 ความสำคัญของลักษณะท่าทางที่เหมาะสมกับการทำงานในแต่ละลักษณะงาน ได้แก่

     1.1.1 การยืนทำงานบนพื้นที่มีความคงที่และมั่นคง ย่อมทำให้การออกแรงในการทำงานเป็นไปอย่างเหมาะสมสะดวกและมีประสิทธิภาพ ในทางตรงกันข้าม หากการทำงานต้องยืนอยู่บนพื้นที่ไม่มีความมั่นคง ทำให้คนทำงานต้อง

          กังวลกับการยืน และต้องพยายามรักษาสมดุลของร่างกายอยู่ตลอดเวลา ก็จะทำให้สูญเสียพลังงานของ ร่างกายไปโดยไม่จำเป็นและยังเป็นสาเหตุของการเกิดความผิดพลาด หรือประสิทธิภาพ ของการทำงานลดลงได้

     1.1.2 ลักษณะท่าทางการทำงานที่มีความเหมาะสมจะช่วยให้สามารถ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยการใช้น้ำหนักของร่างกายเป็นหลักในการออกแรง คือวิธีการที่ร่างกายมีที่พิงในขณะออกแรง

     1.1.3 ลักษณะท่าทางการทำงานของร่างกายที่ดีนั้นต้องไม่ก่อให้เกิดการขัดขวางกระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบหายใจ หรือระบบการย่อยอาหาร

     1.1.4 ลักษณะท่าทางการทำงานของร่างกายที่ดีและเหมาะสมนั้นจะ ต้องช่วยให้มีการแลกเปลี่ยนความร้อนระหว่างร่างกายและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน อย่างเหมาะสม โดยมีการขับเหงื่อที่เหมาะสมกับความหนักของงานหรือความร้อนที่เกิด จากงาน

     1.1.5 ลักษณะท่าทางการทำงานจะต้องสัมพันธ์กับการมองเห็นของ สายตา นั่นคือท่าทางการทำงานที่มั่นคง จะต้องให้มีการมองเห็นของสายตาในระดับราบ เพื่อลดการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อคอและหลัง ส่วนใหญ่ท่าทาง

          การทำงานนั้นมักถูกกำหนดโดยขนาดและข้อจำกัดของ เครื่องจักร บริเวณของสถานที่ จุดควบคุมต่างๆ เป็นต้น

   1.2 หลักการจัดลักษณะท่าทางในการทำงานสำหรับบุคคลที่ยืนทำงาน

      1.2.1 ควรปรับระดับความสูงของพื้นที่การทำงานให้เหมาะสมกับ ผู้ปฏิบัติงานที่มีความสูงแตกต่างกัน

      1.2.2 ควรจัดให้มีที่วางพักทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถปรับเปลี่ยน อิริยาบถได้หรือสับเปลี่ยนน้ำหนักในการยืนเป็นครั้งคราวเพื่อช่วยลดความเครียดที่บริเวณหลังและขา

      1.2.3 ควรจัดให้มีแผ่นปูรองพื้นที่เป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่น ไม่ลื่น สะอาดและได้ระดับ หรือจัดทำแท่นรองรับชิ้นงานหรือยกพื้นสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีความสูงมากหรือเตี้ยให้สามารถยืนทำงานได้อย่างเหมาะสม

      1.2.4 ควรจัดให้มีบริเวณสำหรับการเคลื่อนเท้าไปข้างๆ ไปข้างหน้าและถอยหลังในแนวราบได้โดยไม่มีสิ่งของกีดขวาง

      1.2.5 ไม่ควรให้ผู้ปฏิบัติงานต้องเอนตัวไปข้างหรือหรือข้างหลัง หรือต้องหมุนลำตัวหรือเอียงไปข้าง

      1.2.6 ไม่ควรให้ผู้ปฏิบัติงานต้องเอื้อมมือสูงกว่าระดับความสูงของไหล่ หรือต่ำกว่าระดับที่มือจะหยิบได้ในขณะยืน และไม่ควรให้มีการแหงนศีรษะหรือก้มศีรษะ มากเกินไปด้วยเช่นกัน

      1.2.7 ควรจัดให้มีเก้าอี้หรือที่นั่งพักเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้นั่งพักใน ระหว่างช่วงพักได้ด้วย

      1.2.8 ควรให้ผู้ปฏิบัติงานสวมรองเท้าที่มีความเหมาะสมพอดีเพื่อรองรับ และพยุงบริเวณที่เป็นส่วนโค้งของเท้า

     หลักในการออกแบบโต๊ะทำงานสำหรับงานที่ต้องยืนนั้นจะต้องมีความสูง ที่ผู้ปฏิบัติงานยืนแล้วมือทั้งสองจะต้องอยู่บนพื้นโต๊ะทำงาน ปกติจะต้องต่ำกว่าระดับความสูงของข้อศอกประมาณ 5-10 เซนติเมตร พร้อมทั้งมีพื้นที่เผื่อสำหรับวางเครื่องมืออุปกรณ์ และสิ่งของจำเป็นอื่นๆ ได้ด้วยและหากจำเป็นต้องมีการวางข้อศอกบนพื้นโต๊ะทำงานนั้นด้วย ก็จะต้องมีการยกระดับให้สูงขึ้นพอดีกับข้อศอกด้วย

     สำหรับการยืนทำงานที่เท้าข้างหนึ่งจะต้องกดบังคับเครื่องจักรตลอดเวลานั้น เป็นการยืนที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เกิดการกดทับน้ำหนักลงที่สะโพก และขาอีกข้างหนึ่งทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยและล้าได้ ฉะนั้นจึงควรปรับพื้นให้อยู่ในระดับเดียวกับคันบังคับ เพื่อให้สามารถสลับเท้าบังคับได้และสามารถยืนบนเท้าทั้งสองข้างได้

   1.3 หลักการจัดลักษณะท่าทางการทำงานสำหรับบุคคลที่นั่งเก้าอี้ทำงาน การจัดเก้าอี้นั่งที่มีความเหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ปฏิบัติงานจะทำให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีข้อเสนอแนะดังนี้

     1.3.1 ศีรษะอยู่ในลักษณะสมดุลคืออยู่กึ่งกลางบนไหล่ทั้งสองข้าง และสายตามองในระดับราบ

     1.3.2 ไหล่ทั้งสองข้างอยู่ในลักษณะธรรมชาติ

     1.3.3 ลำตัวตั้งตรงหรือเอนไปข้างหลังเล็กน้อย โดยมีพนักเก้าอี้รองรับใน ระดับเอวอย่างเหมาะสม

     1.3.4 ขาส่วนบน (ต้นขา) และแขนส่วนล่างทั้งสองข้างควรอยู่ในระดับราบ

     1.3.5 ต้นแขนและขาท่อนล่างทั้งสองข้างควรทำมุมกับแนวดิ่งประมาณ 0 และ 45 องศา

     1.3.6 ควรมีบริเวณที่ว่างสำหรับสอดเข่าเข้าไปได้อย่างเหมาะสม

     1.3.7 ควรมีพื้นที่วางเท้าอย่างเหมาะสม

     1.3.8 ไม่ควรต้องเอื้อมหรือบิดโดยไม่จำเป็น

     การนั่งทำงานโดยปกติโต๊ะทำงานควรต่ำกว่าระดับความสูงขอข้อศอกพอสมควร แต่ถ้าเป็นงานที่ต้องการความละเอียด ความสูงของโต๊ะทำงานก็สามารถปรับให้เหมาะสมกับการทำงานให้ได้ระดับกับการทำงานของสายตา ซึ่งโดยปกติแล้วความสูงของโต๊ะควรสูงประมาณความสูงของเข่าหรือสูงมากกว่านั้นอีกประมาณ 2-4 เซนติเมตร สำหรับผู้หญิงที่สวมรองเท้าส้นสูง ดังนั้นความสูงของโต๊ะจากพื้นถึงขอบล่างควรจะสูง ประมาณ 61 เซนติเมตร

สำหรับผู้หญิง และ 64 เซนติเมตรสำหรับผู้ชาย

     สำหรับการทำงานโดยทั่วไป ส่วนโต๊ะที่เหมาะสำหรับการนั่งอ่านหนังสือ จะต้องสามารถวางแขน และข้อศอกบนพื้นโต๊ะได้อย่างสบาย และเก้าอี้ควรเป็นแบบที่สามารถปรับระดับความสูง-ต่ำได้ มีที่พักเท้าสามารถเคลื่อนไหวเท้าได้อย่างสบาย

     สำหรับเก้าอี้นั่งทำงานนั้นจากการศึกษาได้มีข้อเสนอแนะไว้ดังนี้

     1. ควรปรับระดับความสูงของที่นั่งได้โดยให้มีความสูงระหว่าง 40-53 เซนติเมตร

     2. พนักพิงควรให้สามารถปรับได้ในแนวดิ่งจาก 15-24 เซนติเมตรจาก ระดับที่นั่ง

     3. พนักพิงควรปรับระดับในแนวลึกจากขอบที่นั่งด้านหน้าระหว่าง 34-44 เซนติเมตร

     4. ที่นั่งควรมีขนาดความลึก 35 เซนติเมตร

     5. ควรมีความมั่นคงแข็งแรง ไม่โยกหรือเลื่อนไปมา

     6. ควรเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ

     7. ควรให้เท้าวางราบบนพื้น หรือควรจัดให้มีที่วางพักเท้าได้ด้วย

     8. ด้านหน้าของขอบเก้าอี้ควรให้มนโค้งเล็กน้อย

     9. ห้ามหุ้มเก้าอ้ด้วยเนื้อผ้าที่อากาศไหลผ่านได้ง่ายเพื่ป้องกันการลื่นออกจากเก้าอี้ขณะนั่ง

เครื่องมือและอุปกรณ์ควบคุม

     การป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพร่างกายของผู้ปฏิบัติงาน และประสิทธิภาพของการทำงานเพื่อให้ได้ผลผลิตตามต้องการจึงควรมีการออกแบบ และเลือกใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่มีความเหมาะสม ได้รับการออกแบบตามหลักการยศาสตร์ ซึ่งมีข้อแนะนำดังนี้

     1. ควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่ไม่มีคุณภาพ

     2. ควรเลือกใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่ผู้ปฏิบัติงานสามารถใช้ได้อย่างเหมาะสมกับการออกแรงของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น บริเวณหัวไหล่ แขน ขา มากกว่าการ ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กบริเวณข้อมือ และนิ้วมือ

     3. หลีกเลี่ยงการหยิบจับเครื่องมืออุปกรณ์ในท่าทางที่ต้องเอี้ยว บิดหรือ งอข้อมือ รวมทั้งการถือยกเครื่องมืออุปกรณ์เป็นเวลานานๆ

     4. เลือกใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่มีด้ามจับยาวพอเหมาะกับการใช้งาน เพื่อช่วยลดแรงกดทับของฝ่ามือและนิ้วมือ

     5. หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่มีช่องว่างระหว่างด้ามจับ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบริเวณนิ้วมือขึ้นระหว่างการทำงานได้

     6. เลือกใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่สามารถใช้ได้ถนัดทั้งมือซ้ายและมือขวา

     7. ด้ามจับควรมีฉนวนกันไฟฟ้าได้เป็นอย่างดีไม่มีแง่มุมที่แหลมคม และมีวัสดุกันลื่นหุ้มด้ามจับด้วย

     8. เลือกใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่มีน้ำหนักสมดุลเสมอกันและใช้ในตำแหน่งที่เหมาะสม

     9. มีการดูแลบำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์อย่างถูกต้องเหมาะสม

อุปกรณ์ควบคุมนั้นควรมีการออกแบบให้เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงาน ดังนี้

     1. สวิตช์ควบคุมคันโยกและปุ่มควบคุมควรอยู่ในระยะที่ผู้ปฏิบัติงาน สามารถเอื้อมถึงและควบคุมได้สะดวกในตำแหน่งของการปฏิบัติงานตามปกติ

     2. เลือกอุปกรณ์ควบคุมที่เหมาะสมกับสภาพของงาน เช่น การควบคุม ด้วยมือควรเป็นงานที่ต้องการความละเอียดและรวดเร็ว ส่วนงานที่ต้องออกแรงหรืองานหนักควรเลือกอุปกรณ์ควบคุมด้วยเท้า

     3. อุปกรณ์ควบคุมด้วยมือควรใช้ได้กับมือทั้งข้างซ้ายและข้างขวา

     4. อุปกรณ์ควบคุมแบบไกปืน ควรออกแบบให้สามารถใช้นิ้วควบคุมได้หลายนิ้ว

     5. อุปกรณ์ควบคุมฉุกเฉินควรมีลักษณะที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเจน

การทำงานที่ต้องใช้แรงมาก

     การทำงานที่ต้องใช้แรงมากจากผู้ปฏิบัติงานนั้นควรจะมีเครื่องอำนวยความสะดวกช่วยทุ่นแรง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานและยังช่วยทำให้ได้งานเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งมีข้อแนะนำดังนี้

     1. ไม่ควรให้ผู้ปฏิบัติงานออกแรงมากเกินกำลังของแต่ละคน

     2. ควรให้ผู้ปฏิบัติงานที่ต้องทำงานที่ใช้แรงมากได้มีโอกาสทำงานเบา สลับบ้าง

     3. ควรจัดให้มีช่วงระยะเวลาพักในช่วงของการทำงาน สิ่งที่ควรพิจารณาในการออกแบบงานที่ต้องใช้แรงมาก ได้แก่

        1. น้ำหนักของวัสดุสิ่งของ

        2. ความถี่ในการที่ผู้ปฏิบัติงานต้องยกเคลื่อนย้ายวัสดุสิ่งของ

        3. ระยะทางที่ต้องมีการยกเคลื่อนย้ายวัสดุสิ่งของ

        4. รูปร่าง ขนาดของวัสดุสิ่งของที่ต้องยก

        5. ระยะเวลาที่ทำงาน

วิธีการแก้ไขการทำงานที่ต้องใช้แรงมาก

     1. การลดน้ำหนักของวัสดุสิ่งของโดยการลดขนาดของภาชนะบรรจุ ลดจำนวนวัสดุสิ่งของที่ต้องยกเคลื่อนย้ายในแต่ละครั้ง หรือเพิ่มจำนวนผู้ปฏิบัติงานในการยกวัสดุสิ่งของ

     2. ทำให้วัสดุสิ่งของนั้นสะดวกต่อการยกเคลื่อนย้าย

     3. ใช้เทคนิควิธีการจัดเก็บที่ทำให้การเคลื่อนย้ายง่ายยิ่งขึ้น

     4. ลดระยะทางที่ต้องเคลื่อนย้ายให้น้อยที่สุด

     5. หลีกเลี่ยงการทำงานที่ผิดท่าทางปกติด้วยการเอี้ยวตัวหรือบิดลำตัวให้มากที่สุด

ขนาดโครงสร้างร่างกายของคน

     การออกแบบงานและสถานที่ทำงานจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาถึงขนาด และลักษณะโครงสร้างร่างกายของคนเข้ามาประกอบ เนื่องจากความแตกต่างกันของบุคคลในแต่ละเชื้อชาติ เพื่อให้การทำงานนั้นเพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การออกแบบงาน และบริเวณสถานที่ทำงานที่ดีมีความเหมาะสมย่อมทำให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานด้วยความรู้สึก สะดวกสบายปราศจากความเครียดและความเค้นทั้งหลาย

การตรวจสอบด้านจิตวิทยาการยศาสตร์ 

     ในการปฏิบัติงานใดๆ ก็ตามขนาดของเครื่องมืออุปกรณ์ เครื่องจักรจะมีความเหมาะสมสอดคล้องกับขนาดรูปร่างและท่าทางในการทำงานของคนงานหรือไม่นั้น จำเป็นจะต้องมีการสำรวจเพื่อการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และหาแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงต่อไป ซึ่งทำได้โดยการใช้แบบสำรวจ (Checklist) โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย คณะกรรมการความปลอดภัยของหน่วยงาน หรือพนักงานตรวจแรงงานจากหน่วยงาน ราชการต่างๆ ก็ได้

การตรวจเพื่อให้ทราบสภาวะหรือสถานการณ์ของโรงงานนั้นว่าได้มี การดำเนินการเกี่ยวกับวิทยาการจัดสภาพแรงงานอย่างไร ซึ่งก่อนการตรวจผู้สำรวจควรมีการเตรียมอ่านแบบสำรวจเพื่อทำความเข้าใจทั้งหมดอย่างละเอียด แล้วจึงเดินดูให้ทั่วทั้งสถานที่ทำงาน เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับกระบวนการผลิตและบริเวณต่างๆ ในโรงงานแล้วจึงเริ่มทำการสำรวจอย่างละเอียด

ที่มาของข้อมูล

https://www.knsafety.com/17186495/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C

Visitors: 439,813