รู้จักสารพิษอันตราย เสี่ยงก่อมะเร็ง บทเรียนจากไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว

รู้จักสารพิษอันตราย เสี่ยงก่อมะเร็ง บทเรียนจากไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว

ไทยรัฐออนไลน์

  •  

เหตุไฟไหม้โรงงานย่านกิ่งแก้ว ของ บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ซ.กิ่งแก้ว 21 หมู่ที่ 15 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติก ได้มีคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญถึงสารเคมีอันตรายหลายชนิดที่ปกติใช้ในงานโรงงานอุตสาหกรรมพลาสติก ที่นอกจากมีผลข้างเคียงคล้ายกัน เช่น ระคายเคืองทางเดินหายใจ แสบผิวหนัง ปวดศีรษะแล้ว บางชนิดหากได้รับปริมาณสูง ต่อเนื่องและนาน จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง

 

ในเว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ ได้ระบุถึงสารเคมีที่ใช้ในงานโรงงานผลิตพลาสติกโดยทั่วไปที่สำคัญ ซึ่งมีลักษณะกลิ่นและผลต่อสุขภาพ ดังนี้

สไตรีน (Styrene) กลิ่นหอมหวานคล้ายดอกไม้ เป็นสารระเหย หากปนเปื้อนในดินอาจนำไปสู่น้ำใต้ดินผลต่อสุขภาพคือ ระคายจมูก ระคายคอ ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และมึนเมา ถ้าได้รับสารปริมาณสูงจะชักและเสียชีวิตได้ ในระยะนานๆ แม้ว่าความเข้มข้นต่ำ มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าการสัมผัส สไตรีน โมโนเมอร์ (Styrene Monomer) เรื้อรังจะกดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง อาจมีอาการทางสายตา การได้ยินเสื่อมลง และการตอบสนองช้าลง ถ้าเข้าตา จะเคืองตา ถ้าถูกผิวหนัง จะรู้สึกระคายผิว ถ้าสารซึมเข้าผิวหนังจะมีอาการเหมือนหายใจเอาสารเข้าไป ทำให้ผิวแดง แห้ง แตก หากรับสารปริมาณสูง อาจชักและเสียชีวิตเช่นกัน

“สไตรีน โมโนเมอร์ (Styrene Monomer)” เป็นสารตั้งต้นใช้ผลิตพลาสติกพอลิเมอร์อื่นๆ เช่น โพลีสไตรีน, สไตรีน-อะคริลิกเรซิน มีคุณสมบัติทางกายภาพเป็นพิษและติดไฟ และมีระดับความเป็นพิษในสิ่งมีชีวิตหากเข้าสู่สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

สูตรเคมีของ “สไตรีน โมโนเมอร์ (Styrene Monomer)” คือ C8H8 มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น เฟนิลเอทีลีน (Phenylethylene), เฟนิลอีทีน (Phenylethene), ซินนามีน (Cinnamene), สไตโรล (Styrole), สไตรอล (Styrol), สไตโรลีน (Styrolene), เอทิลีนเฟนิลสไตโรลีน (Ethylene, Phenyl-Styrolene), ไวนิลเบนซีน (Vinyl Benzene), เฟเนทิลีน (Phenethylene), ไวนีลเบนโซล (Vinyl Benzol), เอเทนิลเบนซิน (Ethenyl Benzene)

การจำแนกประเภทสารเคมี ได้จัด “สไตรีน โมโนเมอร์ (Styrene Monomer)” อยู่ในกลุ่ม ไวไฟ (R10), เป็นอันตรายเมื่อสูดดม (R20)
และระคายเคืองต่อตาและระคายเคืองต่อผิวหนัง (R36/38)

ข้อบ่งบอกมาตรฐานความปลอดภัย เก็บให้ห่างจากเด็ก เก็บในที่เย็น และห้ามหายใจสูดดมละอองไอของสาร

อันตรายของสารพิษ “สไตรีน โมโนเมอร์ (Styrene Monomer)”

 

- เป็นของเหลวและไอระเหยที่ไวไฟ
- เป็นอันตรายเมื่อกลืนกิน
- เป็นอันตรายเมื่อหายใจเข้าไป
- ระคายเคืองต่อผิวหนัง
- ระคายเคืองต่อดวงตาอย่างรุนแรง
- ทำให้เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนัง
- อาจเป็นสาเหตุให้เกิดความผิดปกติทางพันธุกรรม
- มีข้อสงสัยว่าอาจก่อให้เกิดมะเร็ง
- อาจเกิดอันตรายต่อการเจริญพันธุ์หรือทารกในครรภ์
- อาจเกิดอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและระบบประสาท
- ทำอันตรายต่อระบบประสาทเมื่อรับสัมผัสเป็นเวลานานหรือรับสัมผัสซ้ำ เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ

อันตรายจากสารเคมีที่สามารถส่งผลต่อร่างกาย
อันตรายจากสารเคมีที่สามารถส่งผลต่อร่างกาย

 

เตตระคลอโรเอทธิลีน (Tetrachloroethylene) กลิ่นคล้ายยาสลบคลอโรฟอร์ม ระคายเคืองทางเดินหายใจ และตา ปวดศีรษะ คลื่นไส้ มึน คล้ายคนเมาเหล้า หากสัมผัสสารนี้เป็นระยะเวลานาน อาจก่อให้เกิดการผิดปกติต่อตับและเป็นสารที่อาจก่อมะเร็ง

เบนซีน (Benzene) ถ้ามีความเข้มข้นสูง เมื่อหายใจเข้าไปจะทำให้วิงเวียน หัวใจเต้นเร็ว ปวดศีรษะ สั่นมึนงง และหมดสติ หากได้รับในระยะยาว 1 ปีขึ้นไป มีผลต่อไขกระดูก ทำให้โลหิตจาง ผู้หญิงบางคนมีประจำเดือนผิดปกติและรังไข่เล็กลง และใครได้รับสารนี้ในระยะยาวอาจก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)

บิวทาไดอีน (1,3 Butadiene) กรณีความเข้มข้นต่ำ อาจระคายเคืองลำคอ ตา จมูก ส่วนใครที่ได้รับสารที่มีความเข้มข้นสูงมาก แม้จะไม่นาน ก็ทำให้มีอาการทางระบบประสาท เช่น ตาพร่า คลื่นไส้ เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ ความดันต่ำและอาจหมดสติ และอาจเป็นสารก่อมะเร็ง ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ สารเคมีรั่วไหลจึงควรหลีกเลี่ยงไม่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง

 

นอกจากนี้ยังมีสารเคมีที่ชื่อว่า โทลูอีน (Toluene) กลิ่นเหมือนน้ำมันทินเนอร์ ถ้าหายใจเข้าไปในปริมาณความเข้มข้นสูง จะมีผลต่อประสาทส่วนกลาง อ่อนเพลีย มึนงง ไม่สามารถทรงตัวได้ ปวดศีรษะ หมดสติ และอาจถึงตายได้ หากได้รับสารนี้เป็นเวลานาน นอกจากจะเกิดความระคายเคืองตามเยื่อบุต่างๆ แล้ว จะมีอาการปวดศีรษะ ประสาทหลอน สูญเสียความสามารถในการจำ การคิด และการควบคุมอารมณ์.

อ้างอิงข้อมูล : กรมควบคุมมลพิษ

Visitors: 428,034