ความปลอดภัยงานก่อสร้าง

ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและอันตรายในงานก่อสร้าง

 

ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและอันตรายในงานก่อสร้าง
 
 

งานก่อสร้างเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงความรุ่งเรืองยิ่งใหญ่ของยุคสมัย เช่น กำแพงเมืองจีนบ่งบอกถึงความมีอำนาจและความรุ่งเรืองของจีนสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ และเมืองเก่าจังหวัดอยุธยาแสดงถึงความรุ่งเรืองยิ่งใหญ่ของไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา   งานก่อสร้างในทุกยุคทุกสมัยมีการใช้เทคนิคหรือเทคโนโลยีการก่อสร้าง  ที่น่าอัศจรรย์และเทคโนโลยีเหล่านั้นก็คร่าชีวิตคนงานมากมายนับไม่ถ้วน ปัจจุบันงานก่อสร้างเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ เช่น การสร้างถนน ตึกระฟ้า ระบบรางเพื่อรองรับรถไฟฟ้า สะพานหรือทางยกระดับ สนามบินขนาดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งการก่อสร้างมีกระบวนการการทำงานที่ซับซ้อนตามรูปแบบและขนาดของสิ่งก่อสร้างนั้นๆ งานในบางขั้นตอนมีความเสี่ยงภัยค่อนข้างสูง เช่น การขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดิน การทำงานประกอบติดตั้งบนที่สูง เป็นต้น

             สถิติกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคมในรอบ 5 ปี ระหว่างปี 2558 –ปี 2562 งานก่อสร้างมีอัตราการประสบอันตรายสูงสุด คือ มีการประสบอันตรายร้อยละ 10.52

ร้อยละของสถิติการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันเนื่องจากการทำงานในงานก่อสร้าง

         งานก่อสร้างที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติงานดยขาดความใส่ใจและตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงาน (Unsafe Acts) รวมทั้งนายจ้างและผู้บริหารขาดการบริหารจัดการให้การก่อสร้างและสถานที่ทำงานมีความปลอดภัย (Unsafe Conditions) งานก่อสร้างนั้นก็จะมีความเสี่ยงและอันตรายจากการทำงานค่อนข้างสูง แม้ปัจจุบันผู้ประกอบกิจการก่อสร้างจะตระหนักและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย แต่ในงานก่อสร้างส่วนใหญ่ก็ยังมีลักษณะงานที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและอันตราย ทั้งนี้เนื่องมาจากสาเหตุที่สำคัญๆ โดยรวม คือ

  • เทคโนโลยีในการก่อสร้างมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ทักษะและประสบการณ์ที่ดีพอในการปฏิบัติงานกับเทคโนโลยีเหล่านั้น

  • ขาดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางดูแลความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้างที่ต้องใช้เทคโนโลยีและงานที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งการดูแลที่ไม่ทั่วถึง

  • ขาดกฎระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการทำงาน หรือมีก็ไม่เหมาะสม หรือไม่ครอบคลุมทุกลักษณะงาน

  • ขาดการประสานงานด้านการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยที่ดีระหว่างผู้รับเหมาและผู้เกี่ยวข้อง

  • เครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานไม่เหมาะสมกับลักษณะงาน ขาดการตรวจทดสอบและบำรุงรักษาโดยวิศวกร หรือมีสภาพชำรุด

  • โครงสร้างชั่วคราว เช่น นั่งร้าน แบบหล่อคอนกรีต ค้ำยัน ไม่มีผู้เชียวชาญ/วิศวกรออกแบบและควบคุมดูแลการติดตั้งรื้อถอน หรือไม่มีความมั่นคงแข็งแรง และมีสภาพชำรุด

  • ระบบไฟฟ้าที่ใช้ในงานก่อสร้างขาดการควบคุมตรวจสอบอย่างถูกต้อง จริงจังโดยวิศวกร

  • บริเวณสถานที่ก่อสร้างขาดการจัดระเบียบเรื่องความปลอดภัย เช่น การกำหนดพื้นที่อันตราย การกำหนดเส้นทางการจราจรและความเร็วของยานพาหนะ การกำหนดบริเวณจัดเก็บวัสดุอุปกรณ์และความสะอาดเรียบร้อย เป็นต้น

  • อุปกรณ์ป้องกันอันตรายและอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลไม่เหมาะสมกับลักษณะงาน

 

 

        เพื่อลดความเสี่ยงและอันตรายในการทำงาน นายจ้างต้องเปิดใจกว้างในการดำเนินการด้านความปลอดภัยในการทำงาน โดยกำหนดนโยบายด้านความปลอดภัยในการทำงานที่ชัดเจน จัดให้มีผู้รับผิดชอบดูแลด้านความปลอดภัยอย่างจริงจัง จัดสรรงบประมาณที่เพียงพอในการดำเนินการด้านความปลอดภัยในการทำงาน กำหนดกฎระเบียบ ข้อบังคับด้านความปลอดภัยที่ครอบคลุมในทุกลักษณะงาน มีแผนงานด้านความปลอดภัยที่สอดคล้องกับแผนการทำงานก่อสร้าง มีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายและอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ครบถ้วนเหมาะสม และที่สำคัญต้องศึกษาข้อกฎหมายและมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด    

ขอบคุณบทความดีดี ทีี่มาข้อมูล

https://www.tosh.or.th/

https://www.tosh.or.th/index.php/blog/item/941-2021-08-06-02-39-25

Visitors: 433,730